การยึดถือโฉนดของเจ้าหนี้มีสิทธิ์เพียงใด
การที่ลูกหนี้กู้เงินเจ้าหนี้ โดยลูกหนี้นำโฉนดที่ดิน ,น.ส.๓ ,น.ส.๓ ก หรือเอกสารสิทธิในที่ดินอื่น ๆ ไปให้เจ้าหนี้ยึดถือไว้เป็นประกันหนี้เงินกู้ เจ้าหนี้จะมีสิทธิยึดถือไว้ได้เพียงใด
การยึดถือโฉนดดังกล่าวไม่ใช่การจำนำ (ฎีกา ๒๒๙/๒๕๒๒) ไม่ใช่การจำนองและไม่ใช่สิทธิยึดหน่วง
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๒๔๑ (ฎีกา ๕๔๕/๒๕๐๔)แต่เจ้าหนี้มีสิทธิยึดถือโฉนดไว้ได้
ในฐานะที่เป็นสัญญาต่างตอบแทนตาม มาตรา ๓๖๙ ตราบใดที่ลูกหนี้ยังไม่ได้ชำระหนี้ให้สิ้นเชิง ลูกหนี้ย่อมไม่มีสิทธิเรียกโฉนดคืนได้ (ฎีกา ๑๔๑๖/๒๔๙๙,ฎีกา ๑๓๖๙/๒๕๑๐, ๙๔๒/๒๕๒๗)
แต่ถ้าขาดอายุความลูกหนี้เรียกโฉนดคืนได้ เช่น ลูกหนี้กู้เงินเจ้าหนี้ไป ๑๐๐,๐๐๐ บาท มิได้
กำหนดวันชำระเงินกู้คืนโดยลูกหนี้นำโฉนดที่ดินไปให้เจ้าหนี้ยึดถือไว้เป็นประกันเงินกู้แล้วลูกหนี้
ไม่ได้ใช้เงินกู้คืนแก่เจ้าหนี้ จนเวลาล่วงเลยมา ๑๐ ปี นับแต่วันกู้ เจ้าหนี้ก็ยังไม่ได้ฟ้องเรียกเงินกู้คืน หนี้เงินกู้ซึ่งมีอายุความ ๑๐ ปีก็ขาดอายุความ ลูกหนี้มาฟ้องเรียกโฉนดคืน เจ้าหนี้จะยึดโฉนดไว้อีกมิได้ ต้องคืนให้ลูกหนี้ (ฎีกา ๒๒๙/๒๕๒๒)
แต่อย่างไรก็ตาม สิทธิของเจ้าหนี้ที่ยึดถือโฉนดโดยชอบไว้ดังกล่าวสู้สิทธิของผู้ซื้อตัวที่ดิน
โฉนดดังกล่าวจากการขายทอดตลาดของศาลโดยสุจริตไม่ได้ เช่น ลูกหนี้เป็นหนี้เงินกู้และลูกหนี้
ได้นำโฉนดของตนไปให้เจ้าหนี้ยึดถือไว้เป็นประกันเงินกู้ ต่อมาลูกหนี้ถูกบุคคลอื่นฟ้องคดี และชนะคดี
และได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดีทำการยึดที่ดินแปลงที่นำไปให้เจ้าหนี้ยึดไว้ ต่อมาเมื่อมีการขายทอดตลาด
มีบุคคลภายนอกเข้าซื้อที่ดินได้โดยสุจริต ดังนี้สิทธิของผู้ซื้อที่ดินจากการขายทอดตลาดย่อมไม่เสียไป
เมื่อเจ้าหนี้ไม่ยอมส่งมอบโฉนดให้ ศาลสั่งให้เจ้าพนักงานที่ดินออกใบแทนโฉนดให้ผู้ซื้อได้ (เทียบเคียง
ฎีกาที่ ๗๓๑/๒๔๘๑,๒๓๔๒/๒๕๒๖) ซึ่งเมื่อได้ออกใบแทนโฉนดแล้ว ต้นฉบับโฉนดเดิมที่เจ้าหนี้
ยึดถือไว้เป็นประกันเงินกู้ย่อมเป็นอันยกเลิก เว้นแต่ศาลจะสั่งเป็นอย่างอื่น ตามประมวลกฎหมายที่ดิน